เล่นซ่อนหา

เล่นซ่อนหา หรือการเล่นซ่อนแอบ เป็นการละเล่นประเภทหนึ่งของเด็กไทยซึ่งมีมาช้านาน แต่ในปัจจุบันเราก็ยังเห็นเด็กๆ รวมกลุ่มกันเล่นซ่อนหา หรือโป้งแปะตามสถานที่ต่างๆ เช่น หลังเลิกเรียน วันหยุดในบริเวณบ้าน การเล่นซ่อนหาเล่นกันหลายคนจะสนุกมากขึ้นและเป็นการสร้างความสัมพันธุ์กับเพื่อนๆ ที่เล่นด้วยกันได้เป็นอย่างดี มีวิธีการเล่นง่าย ไม่ซับซ้อน และมีประโยชน์มากมายต่อเด็กอีกด้วย ในบทความนี้จะมาพูดถึงการเล่นซ่อนหา วิธีการเล่น และประโยชน์ที่ส่งเสริมต่อพัฒนาการของเด็กว่ามีอะไรบ้าง

เล่นซ่อนหา

การเล่นซ่อนหาหรือโป้งแปะ

“เล่นซ่อนหา” หรือ “โป้งแปะ” เป็นหนึ่งในการละเล่นพื้นบ้านที่มีมาช้านาน และยังได้รับความนิยมอยู่ทุกยุคทุกสมัย เพราะกติกาง่าย แถมสนุก และต้องมีการกำหนดอาณาเขต เพื่อไม่ให้กว้างจนเกินไป จนถึงวันนี้ก็ยังมีเด็กๆ จับกลุ่มกันเล่นซ่อนหาให้เห็นกันอยู่

คนที่เป็น “ผู้หา” ต้องปิดตา และให้เพื่อนๆ ไปหลบหาที่ซ่อน โดยอาจจะนับเลขก็ได้ ส่วน “ผู้ซ่อน” ในสมัยก่อนจะต้องร้องว่า “ปิดตาไม่มิด สาระพิษเข้าตา พ่อแม่ทำนาได้ข้าวเม็ดเดียว” แล้วแยกย้ายกันไปซ่อน เมื่อ “ผู้หา” คาดคะเนว่าทุกคนซ่อนตัวหมดแล้ว จะร้องถามว่า “เอาหรือยัง” ซึ่งเมื่อ “ผู้ซ่อน” ตอบว่า “เอาล่ะ” “ผู้หา” ก็จะเปิดตาและหาเพื่อนๆ ตามจุดต่างๆ เมื่อหาพบจะพูดว่า “โป้ง..(ตามด้วยชื่อผู้ที่พบ)” ซึ่งสามารถ “โป้ง” คนที่เห็นในระยะไกลได้

จากนั้น “ผู้หา” จะหาไปเรื่อยๆ จนครบ ผู้ที่ถูกหาพบคนแรกจะต้องมาเปลี่ยนมาเป็น “ผู้หา” แทน แต่หากใครซ่อนเก่ง “ผู้หา” หาอย่างไรก็ไม่เจอสักที “ผู้ซ่อน” คนที่ยังไม่ถูกพบสามารถเข้ามาแตะตัว “ผู้หา” พร้อมกับร้องว่า “แปะ” เพื่อให้ “ผู้หา” เป็นต่ออีกรอบหนึ่งได้

กติกาการเล่นซ่อนหา

การเล่นซ่อนหาสามารถเล่นได้ตั้งแต่ 2 คนขึ้นไป หรือการเล่นซ่อนหาหลายคนก็จะยิ่งสนุกมากขึ้น โดยคนหนึ่งเป็นคนหา ที่เหลือเป็นคนแอบ ซึ่งมีวิธีการเล่นซ่อนหาดังนี้

1. ผู้ที่เป็นคนหาสามารถ โป้ง คนที่ตนเห็นในระยะไกลได้
2. ผู้ที่ถูกพบคนแรกต้องเป็นผู้หาแทน
3. ผู้หาจะต้องหาผู้ซ่อนให้ได้ครบทุกคน
4. หากผู้ซ่อนคนใดที่ผู้หายังหาไม่พบ เข้ามาแตะตัวผู้หาพร้อมกับร้องว่า แปะ ผู้หาต้องเป็นต่ออีกรอบหนึ่ง
5. ต้องกำหนดเขตการซ่อนเพื่อจะหาได้ง่าย

วิธีการเล่นซ่อนหา

การเล่นซ่อนหาในพื้นที่กว้าง ก่อนการเล่นซ่อนหาผู้เล่นทั้งหมดอาจตกลงกันก่อนว่าห้ามซ่อนเกินเขตที่กำหนด ผู้ใดออกไปซ่อนนอกเขตถือว่าผิดกติกาจะต้องเป็นผู้หาแทน เมื่อตกลงได้แล้วถึงดำเนินการเลือกผู้ที่จะเป็นผู้หาคนหนึ่ง ตามวิธีการแบ่งกลุ่มและจัดลำดับการเล่น แล้วจึงเริ่มเล่นซ่อนหา

ผู้หาต้องปิดตาโดยใช้มือปิดหรือหันหน้าเข้าหาเสา ต้นไม้ ฯลฯ บางครั้งผู้หาอาจนับเลขไปด้วยเพื่อเป็นการให้เวลาแก่ผู้ซ่อน และผู้ที่ไปซ่อนอาจร้องว่า “ปิดตาไม่มิด สาระพิษเข้าตา พ่อแม่ทำนาได้ข้าวเม็ดเดียว” เมื่อคะเนว่าผู้ซ่อนหาที่ซ่อนได้หมดแล้ว จึงถามว่า เอาหรือยังผู้ซ่อนจะตอบว่า เอาละ ผู้หาจึงเปิดตาแล้วออกหาผู้ซ่อนตามจุดต่างๆ ที่คาดว่าต้องมีผู้ไปซ่อน

เมื่อพบผู้ซ่อนคนใดจะต้องพูดว่า โป้ง… (ชื่อผู้ที่พบ)… ผู้นั้นจะออกมาจากที่ซ่อน ผู้หาต้องหาผู้ซ่อนต่อไปจนครบหมดทุกคนขณะหาถ้ามีผู้ซ่อนคนใดวิ่งเข้ามาแตะตัวผู้หาแล้วร้องว่า แปะผู้หา ต้องเป็นอีกรอบหนึ่ง แต่ถ้าหาผู้ซ่อนได้ครบทุกคน ผู้ถูกพบคนแรกต้องเป็นผู้หาแทน พฤติกรรมเชิงวิเคราะห์

การเล่นซ่อนหาสามารถเล่นได้ทุกวัย ในการเล่นโป้งแปะถึงแม้ว่าผู้หาต้องแข่งขันกับคนอื่นจำนวนหลายคน แต่กติกาในการเล่นอนุญาตให้ผู้หา “โป้ง” ผู้เล่นอื่นได้ในระยะไกล แต่เล่นคนผู้อื่นต้องวิ่งมาถึงตัวผู้หาก่อนจึงจะ “แปะ” ได้

ประโยชน์ของการเล่นซ่อนหา

การเล่นซ่อนหาเป็นเกมแรกๆ ที่เด็กๆ จะเล่นเพื่อความสนุกสนานและเป็นประโยชน์ต่อพัฒนาการ แม้ว่าจะเป็นเกมที่อยู่คู่กับมนุษย์มายาวนาน แต่ยังคงเป็นเกมที่สนุกที่สุด นอกเหนือไปจากความสนุกสนานเพลิดเพลินแล้วยังนำมาซึ่งประโยชน์หลายประการที่สำคัญต่อพัฒนาการของลูกน้อย ประโยชน์ที่จะได้รับจากการเล่นเกมนี้คือ

  • ช่วยพัฒนาทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ : การเล่นจ๊ะเอ๋หรือเล่นซ่อนหาช่วยให้เด็กพัฒนาทักษะกล้ามเนื้อมัดใหญ่ซึ่งจะส่งเสริมพัฒนาการทางร่างกาย เนื่องจากเกมเป็นรูปแบบของการออกกำลังกายจึงส่งเสริมการพัฒนากล้ามเนื้อ สร้างความแข็งแรง และช่วยในการพัฒนาการเชื่อมต่อประสานงานระหว่างแขน ขา และสมองได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้จำเป็นสำหรับการรักษาความสมดุล ความว่องไว และการเคลื่อนไหว
  • ช่วยพัฒนาทักษะการติดตามภาพ : ในขณะที่เล่นจ๊ะเอ๋หรือเล่นซ่อนหา ลูกจะเฝ้าดูคุณแม่ที่กำลังปกปิดใบหน้า ซ่อนสิ่งของ หรือซ่อนตัว กระบวนการในการติดตามการเคลื่อนไหวของคุณแม่ด้วยสายตาช่วยให้ลูกพยายามสบตาและควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อตาและคอของเขาให้มีประสิทธิภาพ
  • ช่วยพัฒนาความจำเพื่อการใช้งาน : การเล่นเกมเหล่านี้ช่วยให้เด็กๆ สร้างความจำเพื่อการใช้งาน เป็นกระบวนการที่สมองจัดเก็บข้อมูลไว้ และสามารถนำข้อมูลนั้นออกมาเพื่อใช้งานได้อย่างถูกที่ถูกเวลา เป็นความเข้าใจว่าในสิ่งต่างๆ เช่น ใบหน้าที่ยิ้มแย้มของคุณแม่จะยังคงอยู่แม้ว่าพวกเขาจะมองไม่เห็นก็ตาม ในช่วงเวลานี้ ความจำเพื่อใช้งานเป็นก้าวสำคัญที่เกิดขึ้นของช่วงอายุ เมื่อลูกน้อยเริ่มเข้าใจแล้ว คุณแม่สามารถเล่นซ่อนหาเพื่อช่วยให้เขาได้พัฒนาความจำเพื่อใช้ทำงานต่อไปในอนาคต
  • ช่วยพัฒนาความคิดเชิงจินตนาการ : ในการค้นหาคนหรือสิ่งของที่ซ่อนอยู่ เด็กๆ จะมีส่วนร่วมในการจินตนาการเพื่อหาตำแหน่งที่เป็นไปได้มากที่สุดที่คนหรือวัตถุจะไปซ่อนอยู่ และเมื่อถึงเวลาที่เขาจะต้องซ่อนเอง เขาก็จะพยายามหาที่ซ่อนที่ดีที่สุด กระบวนการคิดเหล่านี้จะช่วยในการพัฒนาทักษะทางจินตนาการ ความคิดสร้างสรรค์ และการแก้ปัญหา
  • ช่วยพัฒนาทักษะทางอารมณ์และสังคม : การเล่นเป็นกลุ่มทุกประเภทมีส่วนช่วยในการพัฒนาทักษะทางสังคม การเล่นจ๊ะเอ๋หรือเล่นซ่อนหาก็เช่นกัน การเล่นซ่อนหาช่วยให้เด็กๆ ได้พัฒนาทักษะที่สำคัญ ได้แก่ การควบคุมตนเอง การควบคุมอารมณ์ และช่วยฝึกการอดทนรอคอย (ในการหลบซ่อนตัว พวกเขาจำเป็นต้องอยู่เงียบๆ ให้นานขึ้น) เมื่อเด็กๆ ได้เล่นเกมเหล่านี้กับคนอื่น พวกเขาจะได้เรียนรู้วิธีผลัดกันตั้งกฎเกณฑ์ และจัดการกับความขัดแย้งระหว่างผู้ร่วมเล่น ทักษะทางสังคม และการสื่อสาร ทั้งหมดนี้จะช่วยให้พวกเขาได้เรียนรู้วิธีการทำงานเป็นทีมซึ่งมีความสำคัญในโลกปัจจุบัน

เล่นซ่อนหา

พัฒนาการที่เกิดขึ้นเมื่อเล่นกับลูกสม่ำเสมอ

เด็กๆ สามารถเรียนรู้สิ่งต่างๆ จากการเล่นได้มากมายกว่าที่คิด การเล่นเป็นมากกว่าความสนุกสนาน เพราะการเล่นจะเสริมสร้างพัฒนาการการทำงานของสมอง ร่างกาย และพัฒนาการด้านอื่นๆ ของเด็กได้เป็นอย่างดี มีงานวิจัยพบว่า “การเล่น” ช่วยให้เกิดทักษะ EF ทักษะการอยู่ร่วมกับผู้อื่น เเละควบคุมอารมณ์ได้ดีกว่าเด็กที่ไม่ได้มีโอกาสเล่น รวมทั้งยังทำให้เด็กมีพัฒนาการด้านภาษา คิดวิเคราะห์ และช่วยลดความเครียดอีกด้วย ประโยชน์และการพัฒนาที่จะเกิดขึ้น หากเล่นกับลูกอย่างสม่ำเสมอมีดังนี้

1.   ร่างกายแข็งเเรง ประโยชน์ข้อแรกของการเล่นคือ ช่วยเสริมสร้างความแข็งแรงของร่างกาย การเล่น การมีกิจกรรมที่ให้เด็กๆ ได้ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหว เช่น วิ่งไล่จับ เล่นซ่อนแอบ เป็นช่องทางที่ทำให้เกิดการกระตุ้นกล้ามเนื้อให้ร่างกายแข็งแรง

2. ทักษะ Executive Function (EF) เป็นกระบวนการทางความคิดในสมองส่วนหน้า ที่เกี่ยวข้องกับการคิด ความรู้สึก และการกระทำ เป็นทักษะที่มนุษย์ทุกคนต้องใช้ มีความสำคัญต่อทั้งความสำเร็จในการเรียน การทำงาน รวมทั้งการมีชีวิตครอบครัว นักวิชาการระดับโลกชี้ว่า ทักษะ EF สำคัญกว่า IQ  นอกจากนี้มีงานวิจัยชัดเจนว่า ช่วงวัย 3-6 ปี เป็นช่วงเวลาทองในการพัฒนาทักษะ EF ให้กับเด็ก เพราะสมองจะมีการพัฒนาทักษะ EF ได้ดีที่สุดในช่วงเวลานี้ แม้ว่าในวัยที่เข้าสู่โรงเรียน วัยรุ่น หรือวัยผู้ใหญ่ตอนต้น จะยังสามารถพัฒนาทักษะนี้ได้ แต่ก็จะไม่ได้ดีเท่ากับช่วงวัย 3- 6 ปี

ทักษะ EF มี 9 ประการ ประกอบด้วย การยั้งใจคิดไตร่ตรอง การควบคุมอารมณ์ การยืดหยุ่นทางความคิด การตั้งเป้าหมาย วางแผน ความมุ่งมั่น การจดจำและเรียกใช้ข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดลำดับความสำคัญของเรื่องต่างๆ และการทำสิ่งต่างๆ อย่างเป็นขั้นเป็นตอนจนบรรลุความสำเร็จ

3. ลดความเครียด วิตกกังวลและซึมเศร้า นอกจากการเล่นจะทำให้เด็กๆ ได้ฝึกทักษะต่างๆ และฝึกสมองแล้ว การเล่นยังทำให้เกิดความรู้สึกในทางบวกในจิตใจ นั่นก็คือความรู้สึกเป็นสุข สนุกสนาน ซึ่งเป็นอีกปัจจัยที่ส่งเสริมให้เด็กๆ เป็นมีจิตใจที่ร่าเริง สุขภาพจิตดี สดใสอยู่เสมอ ซึ่งส่งผลต่อการมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ดีอีกด้วย นอกจากนี้จะช่วยทำให้เด็กมองว่า ความสุขเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ผ่านการเล่นและการทำกิจกรรมต่างๆ  การที่เด็กๆ มีความสุขได้ง่าย สุขภาพใจแข็งแรง บรรดาความรู้สึกทางลบ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ความรู้สึกหดหู่ซึมเศร้าที่อาจมีอยู่ก็จะค่อยๆ หายไป

4.  ทักษะชีวิตเเละสังคม คือทักษะที่จำเป็นต้องมีเพื่อที่จะอยู่รอดในสังคมปัจจุบันและอนาคต เป็นส่วนเติมเต็มจากทักษะทางวิชาการที่ได้รับจากการเรียนในห้องเรียนทั่วไปอีกด้วย เช่น

  • การรู้จักตนเองและผู้อื่น คือ ความสามารถในการตระหนักถึงความรู้สึก ความรับผิดชอบและข้อดีของตัวเองและผู้อื่น
  • การรับผิดชอบต่อการตัดสินใจ คือ การเข้าใจสถานการณ์ ตั้งเป้าหมาย วางแผน และตัดสินใจทำสิ่งนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง
  • การเข้าใจความรู้สึกผู้อื่น คือ การเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่น เข้าใจความแตกต่างของกันและกัน
  • การสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ คือ การพูด สื่อสาร แลกเปลี่ยนสิ่งต่างๆ กับผู้อื่นอย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการรักษามิตรภาพความสัมพันธ์กับผู้อื่นอีกด้วย

บทสรุป

ปัจจุบันนี้พ่อแม่ไม่มีเวลาเล่นกับลูกมากนัก บางคนมีภารกิจการงานที่หนักหนา บางบ้านเลือกที่จะส่งลูกไปเรียนพิเศษตามตารางที่วางไว้ จนในที่สุดก็ไม่ได้ใช้เวลาร่วมกันกับลูก นอกจากนี้เทคโนโลยีต่างๆ ยังเข้ามามีบทบาทกับทุกครอบครัว บางบ้านแก้ปัญหาไม่มีเวลาให้ลูกด้วยการนำเครื่องมือสื่อสารให้ลูกเล่นแก้เหงา จนมีงานวิจัยที่พบว่าเด็กอยู่กับหน้าจอโทรศัพท์มากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน สิ่งเหล่านี้ทำให้เวลาเล่นของเด็กน้อยลง เมื่อการเล่นมีประโยชน์ต่อพัฒนาการของเด็กๆ ทั้งทางสมอง ร่างกาย รวมทั้งทักษะที่จำเป็นต่างๆ สำหรับการอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมแล้ว การจัดหาเวลาเพื่อเล่นกับลูก หรือทำกิจกรรมร่วมกับลูกจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับทุกครอบครัว การเล่นซ่อนหากับลูกเป็นกิจกรรมง่ายๆ ที่คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปเล่นกับลูกที่บ้านได้ในทุกช่วงเวลา