สธ. พบผู้ป่วยฝีดาษวานรรายที่ 3 ในประเทศ เร่งติดตามสอบสวนโรค ป้องกันการกระจายของเชื้อ

วันนี้ (3 สิงหาคม 2565) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เผยว่า กรมควบคุมโรค ได้รับรายงานพบผู้ป่วยยืนยันโรคฝีดาษวานรรายที่ 3 ในประเทศไทย เป็นชายชาวเยอรมัน อายุ 25 ปี เดินทางเข้าประเทศไทยเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2565 เข้ามายังจังหวัดภูเก็ต เพื่อท่องเที่ยว หลังจากนั้น ก็เริ่มมีอาการเข้าได้กับโรคฝีดาษวานร ได้แก่ มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต มีตุ่มผื่นขึ้นที่อวัยวะเพศ ลำตัวและแขนขา จึงมาพบแพทย์ที่โรงพยาบาล เบื้องต้นคาดว่าเป็นผู้ติดเชื้อนำเข้า

โรคฝีดาษวานรไม่ใช่โรคที่มีอาการรุนแรงหรือติดต่อได้ง่าย
นพ.โอภาส ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า โรคฝีดาษวานรไม่ใช่โรคที่มีอาการรุนแรงหรือติดต่อได้ง่าย จากการติดตามผู้สัมผัสใกล้ชิดของผู้ป่วย 2 รายแรกในประเทศ เช่น ผู้สัมผัสร่วมบ้านที่อยู่ด้วยกันเป็นสัปดาห์ ไม่พบผู้สัมผัสใกล้ชิดติดเชื้อ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีระบบคัดกรองที่ท่าอากาศยาน แต่โรคนี้มีระยะฟักตัวได้นานถึง 3 สัปดาห์ทำให้ช่วงเข้ามาในประเทศไทยยังไม่มีอาการ

ในส่วนของวัคซีนป้องกันฝีดาษ องค์การเภสัชกรรมได้ประสานติดต่อเพื่อนำเข้ามาภายในเดือนสิงหาคมนี้

โดยคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ประชุมหารือกำหนดกลุ่มเสี่ยงที่จะรับวัคซีนเบื้องต้น 2 กลุ่ม ได้แก่:

กลุ่ม Pre Exposure (ก่อนการสัมผัสเชื้อ) ได้แก่ กลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น ดูแลผู้ป่วยใกล้ชิด หรือเจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ
กลุ่ม Post Exposure (ผู้สัมผัสผู้ป่วยไม่เกิน 14 วันหลังสัมผัสเชื้อครั้งสุดท้าย)
โรคฝีดาษวานรสามารถหายเองได้
“โรคฝีดาษวานรสามารถหายเองได้” จากรายงานของผู้ป่วย 2 รายก่อนหน้านี้ ผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรสามารถมีอาการดีขึ้นได้ โดยไม่ต้องกินยาต้านไวรัส จึงไม่จำเป็นต้องกินยาต้านไวรัสทุกราย ยกเว้นผู้ป่วยที่ภูมิคุ้มกันไม่ดี อาจจำเป็นสำหรับการรักษา

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษวานรประมาณ 2 หมื่นกว่าราย ในจำนวนนี้ต้องนอนโรงพยาบาลประมาณ 9% เพื่อการควบคุมโรค และมีผู้เสียชีวิต 6 ราย ซึ่งพบว่ามีโรคร่วมทำให้อาการรุนแรง เช่น มีภาวะสมองอักเสบ โรคมะเร็งต่อมน้ำเหลือง นพ.โอภาส กล่าว

ที่มาข้อมูล : www.princhealth.com
หากสนใจเรื่องราวอื่น ๆ สามารถติดตามอ่านต่อได้ที่ umldigitalops.com